ที่ห้องพิจารณา 707 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 09.00 น. วันนี้ (24 ต.ค.) ศาลนัดไต่สวนคำร้อง คดีดำ อช. 1/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ ยื่นคำร้องขอชันสูตรการเสียชีวิตของนาย ชาญณรงค์ พลศรีลา แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพื่อทำคำสั่ง แสดงว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุ และพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 โดยนายชาญณรงค์ ถูกยิงเสียชีวิต บริเวณหน้าปั๊มน้ำมันเชลล์ ซ.รางน้ำ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.53 ในช่วงที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงพื้นที่ กทม.
วันนี้นายสุเทพ เทือกบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เบิกความสรุปว่า ตนได้ออกคำสั่ง 1/2553 เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์สำหรับสลายชุมนุมตามมาตรฐานสากล คือ โล่ , กระบอง , กระสุนยาง , แก๊สน้ำตา , รถฉีดน้ำ จากเบาไปหาหนัก สำหรับการเข้าปฏิบัติการขอคืนพื้นที่บริเวณถ.ราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 เพื่อต้องการเปิดช่องทางจราจร เชื่อมโยง ถ.ราชดำเนิน สะพานพระราม 8 และสะพานพระปิ่นเกล้าเท่านั้น ไม่ได้บังคับให้เลิกการชุมนุมที่ผ่านฟ้า โดยเริ่มปฏิบัติการช่วงกลางวัน กำชับให้เจ้าหน้าที่ใช้แต่อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน ส่วนกลางคืนพบว่ามีกองกำลังผู้ก่อการร้ายที่ปะปนกับผู้ชุมนุม ใช้อาวุธสงคราม เช่น ปืนเอ็ม 16 , ปืนอาก้า , ระเบิดขว้าง , การใช้กระสุน เอ็ม79 ยิงใส่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ตนจึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ ศอฉ.สามารถใช้อาวุธในการป้องกันตัวเอง และประชาชนได้ และไม่เคยมีคำสั่งพิเศษ ส่วนการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่ มีทั้งกำลังตำรวจและทหาร ในหลายพื้นที่เพื่อสกัดคนไม่ให้เข้าไป รวมทั้ง ให้ตัดน้ำตัดไฟในพื้นที่ชุมนุม เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมมีความสะดวกสบาย อีกด้วย
ส่วนการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ ที่ ย่าน ถ.ราชปรารภ ขณะเกิดเหตุยังไม่ทราบรายละเอียด แต่มาทราบภายหลังเมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รวบรวมข้อมูลการเสียชีวิต 13 ศพ ที่ดีเอสไอมีความเห็นไม่ตรงกับ สตช.ว่าการเสียชีวิตน่าจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ แต่ในส่วนของสตช.ได้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการชันสูตรศพขึ้นมาเฉพาะ ระบุว่าไม่ทราบว่าการเสียชีวิตเกิดจากฝ่ายใดเป็นผู้กระทำ ซึ่งตนก็ได้นำข้อมูลนี้ไปชี้แจงเมื่อครั้งถูกฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย ส่วนรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) มีการระบุถึงการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ไว้ แต่ตนไม่เห็นข้อความที่ระบุว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่
ต่อมาช่วงบ่าย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และแกนนำนปช. ขึ้นเบิกความสรุปว่า กลุ่ม นปช.ชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยเริ่มชุมนุมเมื่อวันที่ 12 มี.ค.53 ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้า กระทั่งวันที่ 10 เม.ย. 53 รัฐบาล โดย ศอฉ. นำกำลังทหารออกจากที่ตั้งพร้อมอาวุธปืนเอ็ม 16 ปืนยาว โล่และกระบอง รถถัง เข้าปราบปรามผู้ชุมนุม โดยไม่ปฏิบัติตามหลักสากล ใช้เฮลิคอปเตอร์บินโยนแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุม มีการใช้พลแม่นปืนใช้อาวุธปืนความเร็วสูงติดลำกล้อง ยิงผู้ชุมนุมกระสุนเข้าอวัยวะสำคัญ ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย และเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลใช้พลซุ่มยิงผู้ชุมนุมทางการเมือง ไม่เคยมีรัฐบาลใดกระทำมาก่อนหลังจากนั้นได้ยุบเวทีปราศรัยที่สะพานผ่านฟ้าไปรวมที่เวทีราชประสงค์เวทีเดียว โดยช่วงประมาณวันที่ 14 พ.ค.53 มีความตรึงเครียด เนื่องจาก ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่ทหารตั้งด่านตรวจค้นรอบพื้นที่ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถเข้าพื้นที่ชุมนุมได้ และมีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารปะทะกับผู้ชุมนุมและมีการซุ่มยิงประชาชนเสียชีวิตหลายราย ซึ่งในส่วนของนายชาญณรงค์ ผู้ตายคดีนี้ ทราบจากข่าวสื่อมวลชนว่า ถูกยิงชีวิตนอกพื้นที่ชุมนุม และคนอื่นเสียชีวิตอีกหลายราย
ภายหลังนายณัฐวุฒิ เบิกความเสร็จสิ้นแล้วทนายความญาติผู้ตายแถลงหมดพยาน ศาลจึงนัดฟังคำสั่งคดีนี้ในวันที่ 26 พ.ย. นี้ เวลา 09.00 น. ต่อมานายณัฐวุฒิ กล่าวถึงกรณี ที่พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์กรพิทักษ์สยาม ได้เตรียมจัดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล วันที่ 28 ต.ค.นี้ ที่ สนามม้านางเลิ้ง ว่า คำพูดของพล.อ.บุญเลิศ ส่อไปในทางรัฐประหาร ตนสงสัยว่าการชุมนุมในครั้งนี้ต้องการสิ่งใด.
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น