เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ ( 26 ต.ค.) นางพูนประภา เหล่าสิทธิ์ ประธานผู้ใช้น้ำโซน 1 ต.ท่าตูม อ.เมือง จ.มหาสารคาม เปิดเผยว่า ชาวบ้านจาก 9 หมู่บ้านประกอบด้วยบ้านกุดเวียน บ้านคันฮุง บ้านหนองข่า บ้านโปโล บ้านไข่นุ่น บ้านโนนเชียงบัง บ้านบาก บ้านสะดำศรี บ้านหนองแค ซึ่งมีพื้นที่ทำนากว่า 2 พันไร่ แต่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากในแต่ละปีจะถูกน้ำในลำชีเอ่อท่วมติดต่อกันมา 10 ปี ไม่เคยได้ข้าว แต่ทุกปีจะทำนาปรังในช่วงเดือนมกราคม เพราะไม่มีน้ำมาอีกแล้ว แม้ปีนี้น้ำไม่ท่วมแต่ชาวบ้านทั้ง 9 หมู่บ้าน ไม่มีใครทำนาได้เพราะเกรงว่าจะถูกน้ำท่วมอีกและหวังว่าจะทำนาปรังได้มีเงินจากการขายข้าวมาใช้จ่ายในครัวเรือนโดยเฉพาะใช้ส่งลูกเรียน ใช้หนี้ ธ.ก.ส . แต่ถ้าทำนาปรังก็ขายข้าวได้ไม่ตำก่า 1 แสนบาท แต่ทราบว่าทางฝายวังยาง จะไม่ปล่อยน้ำออกมาให้ทำนาปรัง โดยอ้างว่าปีนี้น้ำในลำชีมีน้อย ชาวบ้าน 9 หมู่บ้าน จึงทำหนังสือร้องขอความเห็นใจจากเจ้าหน้าที่ฝายวังยาง เพื่อขอให้เปิดน้ำให้ชาวบ้านได้ทำนาปรังด้วยเพราะหากปีนี้ไม่ได้ทำนาปรังชาวบ้านก็จะได้รับความเดือดร้อนไม่มีข้าวขายและเก็บไว้กิน และขาดรายได้ในครัวเรือนด้วย
ด้านนายพัฒนะ พลศรี หน.ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 เขื่อนระบายน้ำฝายวังยาง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนกลาง เปิดเผยว่า ทางฝายมีคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจะมีกลุ่มผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำเขื่อนระบายน้ำฝายวังยาง 3 โซน คือ โซนต้นคลอง กลางคลอง และปลายคลอง ยาว 21 กิโลเมตร มีพื้นที่นาที่ใช้ประโยชน์จำนวน 21,230 ไร่ รองรับการปลูกข้าวนาปีเต็ม 100% แต่ข้าวนาปรังจะมีผู้ปลูกราว 12,000 ไร่ ซึ่งในปีนี้ต้องยอมรับปริมาณน้ำเก็บกักมีน้อยมาก เกรงว่าจะไม่เพียงพอต่อการทำนาปรัง ซึ่งเกษตรกรได้ทำนาปีโดยใช้พันธุ์ข้าวนาปรังไปแล้ว ซึ่งหากจะทำนาปรังอีกรอบ เกรงว่าข้าวจะได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทางฝายไม่ได้ห้ามเกษตรกรไม่ให้ปลูกข้าว แต่ทางฝายจำเป็นต้องกักเก็บน้ำไว้เพื่ออุปโภคบริโภค และบริหารจัดการในช่วงนาปีฤดูกาลถัดไปจึงไม่สามารถส่งน้ำให้ผู้ทำนาปรังได้.
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น