ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ
www.becomz.com

วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2555

'สื่ออิเล็กทรอนิกส์' เพื่อทุกชีวิตในชุมชน


ความสุขใจเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อได้เห็นความร่วมมือดี ๆ จากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ ที่ลงมือสร้างสรรค์สิ่งดีที่จะเกิดประโยชน์แก่ชุมชนอย่างแท้จริง ดังเช่น ’โครงการเผยแพร่องค์ความรู้สู่สาธารณะ เรียนรู้ สนุกเล่น หยั่งลึกสัมผัสไทย“ ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือ ทีเคปาร์ค จับมือกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยอาศัยพันธกิจหลักของทีเคปาร์ค ในการทำหน้าที่บริหารจัดการองค์ความรู้ จึงได้รวบรวมคลังข้อมูลความรู้
สำคัญ ๆ จากหน่วยงานสังกัด วธ. ผลิตสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบของ “เกม” จากนั้นประสานนำไปติดตั้งในคอมพิวเตอร์ของชุมชน ผ่านทางเครือข่ายไอซีทีชุมชน และติดตั้งในห้องคอมพิวเตอร์ โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวนรวมกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ
โดยเหตุผลข้อหนึ่งของ “ทีเคปาร์ค” ที่มุ่งเน้นการทำเกม เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้สู่สาธารณะ เพราะในปัจจุบันการใช้เวลาว่างของเด็กและเยาวชนไทย หมดไปกับการเล่นเกมหรือทำกิจกรรมที่ไม่เป็นประโยชน์สูง ซึ่งความเห็นของ ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ผอ.ทีเคปาร์ค ระหว่างการลงพื้นที่ติดตามการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ณ โรงเรียนและศูนย์ไอซีทีชุมชน ในจังหวัดบุรีรัมย์ บอกว่า ผลสำเร็จของโครงการฯ เกิดขึ้นแล้ว ในแง่ของการสร้างความสนุกสนานในการเรียนรู้ ส่วนเรื่องขององค์ความรู้ที่ได้จากการเล่นเกมของทีเคปาร์คนั้น ยังคงต้องอาศัยการแนะนำที่ดีจากผู้ปกครองด้วย เพราะเกมที่นำมาให้เด็กเล่นนั้นมีเนื้อหาพอสมควร ถ้าเด็กไม่อ่านก็จะไม่ได้ประโยชน์ครบถ้วน แต่อย่างน้อยก็ยังมีข้อดีตรงที่เด็กจะไม่ได้เล่นสื่อที่ไม่ดี
“เกมสร้างสรรค์ที่ทีเคปาร์คพัฒนาขึ้นมานั้น มีจำนวน 6 เกม ได้แก่ เกมกุ๊ก กุ๊ก กรู๋..คนสู้ผี, เกมรามเกียรติ์, เกมอยุธยา, เกมสุโขทัย, เกมไดโนไดโน่ ผจญภัยโลกไดโนเสาร์ไทย และ เกม Star Seeker พลิกฟ้า ล่าดวงดาว ทุกเกมได้ผ่านการยอมรับและมีรางวัลการันตีถึงประโยชน์ในการสร้างสรรค์ จินตนาการ เสริมสร้างความรู้ และอุปนิสัยที่ดี ยกตัวอย่าง เกมอยุธยา เป็นเกมที่เหมาะสำหรับเด็กอายุ 8 ขวบขึ้นไป เนื้อหาของเกมไม่ได้เน้นเรื่องประวัติศาสตร์ แต่จะสอนเรื่องของความเอื้ออาทรของคนในสังคมยุคอดีต โดยผู้เล่นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นในเกมเพื่อให้ผ่านด่านได้ อาทิ การเก็บฝักบัวถวายพระ ต้องขอแรงลุงป้าน้าอาในเกม เป็นการสอนคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งเด็กก็จะได้ซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นแค่เพียงเขาสนุกที่จะเล่นเกมก็ถือว่าได้ประโยชน์แล้ว” ผอ.ทีเคปาร์ค กล่าว
“โกวิทย์ เกลือสีโท” ครูโรงเรียนบ้านตลาดแย้ ตำบลถนนหัก อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ บอกว่า ทุกวันอังคารและพุธ ตนจะพาเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-4 และ 5-6 กลุ่มละ 20 กว่าคน ในชั่วโมงเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ มาเล่นเกมของทีเคปาร์ค ที่ศูนย์ไอซีทีชุมชนเพื่อพ่อหลวง องค์การบริหารส่วนตำบลถนนหัก ด้วยเหตุผลข้อแรกเพราะที่โรงเรียนมีคอมพิวเตอร์เพียง 4 เครื่อง แต่ใช้งานจริงได้ 2 เครื่องสำหรับทำธุรการที่จำเป็น และอีกเหตุผลหนึ่งเป็นข้อสำคัญ ที่พาเด็กนักเรียนมาเพราะอยากให้เขาได้จับเครื่องคอมพิวเตอร์นั่นเอง
“ตอนแรกที่ยังไม่มีเกมของทีเคปาร์ค ผมให้นักเรียนลองฝึกค้นหาข้อมูลและฝึกพิมพ์รายงานทั่วไป พบว่าเด็กบางคนทำได้ดี บางคนก็ทำไม่ได้เลย แต่พอมีเกม ผมก็แบ่งเวลาให้เขาเล่นเกม ซึ่งแต่ละเกมก็ฝึกทักษะแตกต่างกันไป เด็กจะได้เลือกเล่นเกมที่ตัวเองถนัดและชอบ ทุกคนก็เล่นได้หมด และรู้สึกว่าพวกเขาสนุกที่ได้เล่นเกมด้วย ส่วนเราในฐานะเป็นครู เห็นเด็กขาดโอกาสที่จะเล่นสื่อคอมพิวเตอร์ ดังนั้นถ้าได้เล่นได้จับสัปดาห์ละประมาณ 3 ชั่วโมง ผมก็ว่าดีแล้ว ที่เหลือก็เป็นเรื่องพัฒนาการของเด็กที่จะมีต่อไป” นายโกวิทย์ กล่าว
ความเห็นของคุณครูโกวิทย์ สอดคล้องกันกับคำให้สัมภาษณ์จากปาก “น้องอิง” หรือ ด.ช.ปฏิมากร แน่ประโคน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเมืองตลุงพิทยาสรรค์ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทีเคปาร์คได้ลงพื้นที่ติดตามผลการใช้สื่อ อิเล็กทรอนิกส์...น้องอิง บอกว่า ส่วนตัวชอบเกมรามเกียรติ์ของทีเคปาร์ค เพราะเป็นเกมวางแผน แต่เกมมีจุดอ่อนตรงที่แต่ละด่านง่ายเกินไป แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นจุดแข็งด้วย เพราะเนื้อหาของเกมที่เรียบง่าย ทำให้การเรียนรู้และทำความรู้จักกับตัวละครในเรื่องง่ายตามไปด้วย การเล่นเกมได้ผลดีเพราะทำให้จำตัวละครและเข้าใจเรื่องได้เป็นขั้นเป็นตอน จากแต่ก่อนที่รู้จักแค่บางตัวละครที่เด่น ๆ เท่านั้น ซึ่งนอกจากเรื่องเกมแล้ว น้องอิง มีความสนใจไปถึงการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยอยากให้ครูสอนวิธีเขียนโปรแกรม จะได้เขียนเป็น และเขียนโปรแกรมใช้เองได้ตามต้องการ
ถัดจากการติดตามการใช้สื่อในกลุ่มสถานศึกษา ก็มาดูการใช้สื่อกับชุมชน ให้สมกับชื่อโครงการเผยแพร่องค์ความรู้สู่สาธารณะฯ โดย “ธำรงค์ ชำนิจศิลป์” ปลัดเทศบาลตำบลประโคนชัย ในฐานะประธานเครือข่ายไอซีที จังหวัดบุรีรัมย์ บอกว่า ไม่ว่าจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้มาจากกระทรวงไอซีที หรือโปรแกรมเกมต่าง ๆ ที่ได้จากทีเคปาร์ค ทุกอย่างที่ลงมาจากส่วนกลางจะต้องถูกนำไปใช้ประโยชน์แก่คนในชุมชนให้ได้มาก ที่สุด จุดสำคัญของการเข้ามาของสื่ออิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ คือการทำให้คนในชุมชนรู้ว่าสื่อเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องและช่วยสร้าง ประโยชน์ให้แก่ชีวิตประจำวันของพวกเขาได้อย่างไร
“คำถามแรกที่จะได้รับจากคนในชุมชน คือ ความคิดที่ว่าจะเล่นคอมพิวเตอร์ไปทำไม พอได้คอมพิวเตอร์มาก็ไม่รู้จะเล่นอะไร ดังนั้นผมจึงเริ่มต้นด้วยการสร้างกิจกรรมที่พวกเขาสนใจขึ้นมา และใช้สื่อเหล่านี้เข้ามาเป็นตัวช่วย เช่น จัดกิจกรรมอบรมการทำขนม โดยให้แม่บ้านที่สนใจเรียนทำขนมมารวมตัวกันและเรียนรู้การทำขนมจากสื่อใน คอมพิวเตอร์ เขาก็จะรู้ว่าคอมพิวเตอร์มีประโยชน์อย่างไร ค้นคว้าทำอย่างไร นอกจากนี้มีบางคนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างอาชีพ สามารถศึกษาวิธีเพาะเห็ดจนเชี่ยวชาญแล้วไปทำขายร่ำรวยจริง ๆ หรือบางคนชอบกีฬาชนไก่ ได้มานั่งเปิดดูคลิปชนไก่แล้วมีความสุข ผมก็ถือว่าได้ใช้ประโยชน์จากสื่อเหล่านี้แล้ว” นายธำรงค์ กล่าว
เมื่อเห็นพัฒนาการด้านไอทีของชาวจังหวัดบุรีรัมย์แล้ว จึงไม่แปลกใจที่มาพบเห็นภาพกลุ่มหญิงชราวัย 80 ปี พากันนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ พร้อมกับใช้นิ้วมือและสายตาอันเลือนรางควานหาตัวอักษรบนแป้นพิมพ์เพื่อสะกด ชื่อตัวเองลงหน้ากระดาษสีขาวบนจอคอมพ์ โดยมีลูกหลานในชุมชนคอยช่วยเหลือดูแล ณ จุดนั้นถือเป็นภาพประทับใจของทุกคนที่ลงพื้นที่ติดตามการใช้สื่อฯ ที่บ้านตากแดด อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เพราะไม่ใช่แค่ความรู้สึกยินดีกับการเปิดรับสื่อใหม่ของคุณตาคุณยาย แต่ยังรู้สึกอบอุ่นไปด้วย เมื่อรู้ว่าสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้กลายเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์อันดีให้ แก่คนทุกวัยในชุมชน.
จินดารัตน์ ลาภเลี้ยงตระกูล
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Disqus Shortname

Comments system

ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ 095-954-4524

ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

Blog Archive

Post Top Ad

คลังบทความของบล็อก

Author Details

Menu - Pages

Business

Random Posts

Recent

Popular

Blog Archive